GISTDA

ผู้เขียน: webmaster

  • ภารกิจ ASIA-AQ ความร่วมมือ NASA-GISTDA นำวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาประเทศ

    ภารกิจ ASIA-AQ ความร่วมมือ NASA-GISTDA นำวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาประเทศ

    ภารกิจ ASIA-AQ ความร่วมมือ NASA-GISTDA นำวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาประเทศ

    หากพูดถึงเรื่องของวิทยาศาสตร์ อวกาศ หรือเอ่ยชื่อหน่วยงานอย่าง NASA ภาพจำหลักที่หลายคนคุ้นชิน อาจเป็นภารกิจการสำรวจจักรวาล มองออกไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ที่ไกลออกไปในเอกภพ

    แต่ความจริงแล้ว โลก เป็นดาวเคราะห์ที่ NASA มีการศึกษาและสำรวจมากที่สุด โดยมีไม่น้อยกว่า 26 ภารกิจอยู่ในวงโคจร เช่นเดียวกับการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตรวจดูมหาสมุทร แผ่นดิน น้ำแข็ง และบรรยากาศของดาวเคราะห์สีครามดวงนี้

    และในระหว่างวันที่ 16-26 มีนาคม 2024 เครื่องบิน DC-8 และ G-III ของขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้ร่วมขึ้นบินศึกษาบรรยากาศ และตรวจวัดปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ

    โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA กับ NIER หรือสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเกาหลีใต้ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ GEMS หรือ Geostationary Environment Monitoring Spectrometer สำหรับตรวจดูมลภาวะของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้ระดับรายชั่วโมง โดยออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้าไปกับดาวเทียม GEO-COMPSAT-2B ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020

    นอกจากอุปกรณ์ GEMS เหนือทวีปเอเชีย ยังมีอุปกรณ์ TEMPO ของ NASA ที่ติดไปกับดาวเทียม Intelsat 40e เพื่อตรวจดูมลภาวะเหนือทวีปอเมริกาเหนือ เช่นเดียวกับดาวเทียม Sentinel-4 ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่อยู่ในระหว่างการผลิต ก่อนนำส่งขึ้นไปตรวจดูคุณภาพอากาศและมลภาวะเหนือบริเวณทวีปยุโรป

    แต่เพราะข้อมูลจากดาวเทียมอย่างเดียว ไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับมลภาวะหรือคุณภาพอากาศทั้งหมดได้ จึงทำให้โครงการ ASIA-AQ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง NASA, NIER และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จะมีการขึ้นบินของเครื่องบิน DC-8 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า” และเครื่อง G-III ของ NASA เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจวัดคุณภาพอากาศตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย

    เครื่องบิน DC-8 จะอาศัยการบินโฉบลงใกล้กับรันเวย์ของสนามบินต่าง ๆ อาทิ สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ สนามบินจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย แพร่ และเชียงใหม่ เพื่อลงเก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศเหนือระดับพื้นดิน ที่ความสูงประมาณ 20 ฟุตเหนือรันเวย์ ก่อนไต่ระดับความสูงไม่เกินเพดาน 15,000 ฟุต (ตัวเครื่องสามารถบินได้สูงสุด 42,000 ฟุต ด้วยระยะเวลารวม 12 ชั่วโมงต่อเที่ยวบิน) เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากตำแหน่งและระดับความสูงต่าง ๆ มารวมกับการตรวจวัดของดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน

    ในเวลาเดียวกัน เครื่องบิน G-III จะรักษาเพดานบินไว้ที่ความสูงไม่น้อยกว่า 28,000 ฟุต ตลอดทั้งช่วงการขึ้นบิน ด้วยภารกิจการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศ และตรวจดูแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก ก่อนส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจถึงองค์ประกอบและคุณภาพอากาศในท้องที่ต่าง ๆ และนำไปบูรณาการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในประเทศ

    ความร่วมมือระหว่าง NASA, NIER และ GISTDA ในโครงการ ASIA-AQ นั้นสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว. ที่ต้องการผลักดันนโยบายให้สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง โดยนอกจากการขึ้นบินศึกษาคุณภาพอากาศ ยังมีกิจกรรมและความร่วมมือระหว่าง NASA กับ GISTDA เพิ่มเติม ทั้งการอบรวม ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศ

    NASA และ GISTDA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ NARIT, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยศิลปากร, และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะร่วมกันวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจากทั้งดาวเทียม เครื่องบิน และสถานีตรวจวัดภาคพื้น ก่อนเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากโครงการออกสู่สาธารณะภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีจากวันนี้ พร้อมกับเป็นแนวทางในการติดตามสถานการณ์จากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับการออกนโยบายและวางแผนบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในไทย

    เทคโนโลยีอวกาศ ที่ช่วยให้มนุษย์มองไปไกลสุดขอบจักรวาล ค้นพบโลกใบใหม่มากมาย ก็ยังช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกใบนี้ได้ดีกว่าเดิม และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยหาวิธีการดูแล ปกปักรักษา บ้านหลังเดียวของมนุษย์ไปอีกตราบนาน

    Share:

    Facebook
    Twitter
  • ดาวเทียมผลิตในไทย เข้าทดสอบสภาวะสุญญากาศ

    ดาวเทียมผลิตในไทย เข้าทดสอบสภาวะสุญญากาศ

    # Article

    ดาวเทียมผลิตในไทย เข้าทดสอบสภาวะสุญญากาศ

    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิศวกร GISTDA ได้นำดาวเทียมจำลอง Satellite Qualification Model (SQM) ที่มีโครงสร้างหลักเหมือนกับดาวเทียมเล็ก หรือ THEOS-2A ซึ่งกำลังเดินทางจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทยเร็วๆนี้ ความพิเศษของดาวเทียมจำลอง SQM นี้ คือ ชิ้นส่วนทุกชิ้นของดาวเทียมดวงนี้ถูกสั่งผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งหมด ได้แก่ บริษัท เลนโซ่ แอโร่สเปซ, จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่, ซี.ซี.เอส. แอดวานซ์ เทค, ซีเนียร์ แอโรสเปซ แล้วนำมาประกอบเป็นดาวเทียมโดยทีมวิศวกร THEOS-2 ณ ห้องคลีนรูมที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตามมาตรฐานการประกอบดาวเทียม (ISO 14644-1 Class 😎 ซึ่งอยู่ภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

    ปัจจุบันดาวเทียมจำลอง SQM ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบสภาวะอุณหภูมิสุญญากาศในเครื่องทดสอบ Thermal Vacuum Chamber (TVAC) ซึ่งเป็นการทดสอบจำลองการถ่ายเทความร้อนของตัวดาวเทียม เมื่อทำงานอยู่ในอวกาศจะมีการถ่ายเทความร้อนเพียงสองแบบ คือ การแผ่รังสี(Radiation) และการนำความร้อน (Conduction) แตกต่างจากบนพื้นโลกที่จะมีการพาความร้อน (Convection) ด้วยตัวกลางอย่างอากาศหรือน้ำ

    นอกจากเครื่อง TVAC แล้ว ในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม ยังประกอบด้วยเครื่องทดสอบแรงสั่นสะเทือน (Vibration Shaker), เครื่องทดสอบคุณสมบัติทางมวล (Mass properties), เครื่องทดสอบอุณหภูมิสภาวะบรรยากาศปกติ (Thermal Cycling), ห้องปลอดฝุ่น (Clean room class 100) ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นในการพัฒนา และทดสอบดาวเทียม ก่อนส่งขึ้นสู่วงโคจร

    กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญ เพื่อพิสูจน์ว่าประเทศไทย มีความสามารถในการพัฒนา ออกแบบ ผลิต ประกอบ ทดสอบ และควบคุมดาวเทียมเชิงพาณิชย์ ได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้า และมีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn